หลายคนที่กำลังศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับราคาทองคำ หรือคนที่กำลังมีแผนจะซื้อทองคำครั้งแรก แต่ยังสงสัยว่าทำไมราคาทองคำของประเทศไทย วันนี้ราคาเท่านี้แต่พรุ่งนี้เป็นอีกราคานึงแล้ว ถ้าให้พูกแบบง่ายๆและเร็วๆ ก็คือราคาทองคำจะมีการปรับขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งราคาไม่ได้ปรับแค่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ราคาทองจะมีการปรับทุกประเทศ เพราะทองคำถือเป็นทรัพย์สินที่เราไม่อาจเทียบเป็นเงินสกุลได้ เหมือนค่าเงินบาท ค่าเงินดอลลาร์ ค่าเงินเยน
ดังนั้นราคาทองคำจึงมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ตามค่าเงินของแต่ละประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้ราคาทองเปลี่ยนแปลงมีมากกว่านั้น วันนี้เราเลยเตรียม 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองสูงขึ้นหรือลดลง
4 ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองคำเปลี่ยนแปลง
- การเงินและอัตราดอกเบี้ย
ปัจจัยแรกที่ส่งผลต่อราคาทองคำอย่างยิ่งคือเรื่องการเงินและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำ หากมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นดี เกิดความเชื่อมั่นที่อยากจะลงทุน ค่าดอลลาร์จะต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ในทางตรงข้ามถ้าดอกเบี้ยนโยบายลดลง แสดงว่าเศรษฐกิจเริ่มแย่ ความเชื่อมันในการลงทุนลดลง ค่าดอลลาร์ลดลง ทำให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองขึ้นลง เพราะราคาน้ำมันเป็นเหตุให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อกับราคาทองคำค่อนข้างเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาทองคำ ดังนั้นหากราคาน้ำมันขึ้น เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มสูง แต่ในทางตรงกันข้าม หากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เงินเฟ้อจะลดลง ทำให้ราคาทองคำลดลงด้วยเช่นกัน
- ค่าเงินดอลลาร์
ค่าเงินดอลลาร์ถือเป็นสกุลเงินที่สำคัญต่อการเงินทั่วโลก เพราะเป็นสกุลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ทำให้เงินค่าดอลลาร์มีความผกผันกับการเงินทั่วโลก รวมถึงราคาทองด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่งผลดีกับราคาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่สามารถเก็บมูลค่าทำให้กระแสเงินของแต่ละประเทศต่างไหลเข้าสู่ทองคำ ทำให้ทองคำมีราคาเพิ่มขึ้นสูง แต่ในทางตรงกันข้ามหากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ก็จะส่งผลต่อราคาทองคำ เนื่องจากนักลงทุนหันมาใช้จ่ายหรือลงทุนในสกุลดอลลาร์แทน ทำให้ราคาทองลดลง
- Demand Supply
Demand Supply หรือที่เรียกว่าอุปสงค์ คือความต้องการของลูกค้าที่ต้องการใช้ทอง ซึ่งกลุ่มลูกค้าของทองคำส่วนใหญ่แล้วมาจาก 4 กลุ่มใหญ่ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ, ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์, ภาคการลงทุน, ภาครัฐของแต่ละประเทศ ซึ่งมีการนำทุนสำรองไปซื้อทองคำมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น จีน สหรัฐฯ รัสเซีย ที่เป็นประเทศแห่งเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นถ้ามีความต้องการในการซื้อทองคำสูง จะส่งผลทำให้ราคาทองสูงขึ้นด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามถ้ามีความต้องการซื้อทองคำต่ำ ราคาทองก็จะลดลงด้วย
ในส่วนของอุปทาน (Supply) คือ ความต้องการขายทองคำ ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก คือ ผลผลิตทองคำจากเหมืองทองคำ แรงขายจากธนาคารกลางทั่วโลก และปริมาณทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ ดังนั้นถ้าความต้องการขายทองคำสูง ราคาทองก็จะลดลง แต่ในทางกลับกันถ้าความต้องการขายทองจ่ำ ราคาทองก็จะสูง ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์นั่นเอง